วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร |
พระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร |
![]() |
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร (วัด กัลยา) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศบ้านและซื้อที่ดินข้างเคียงเพิ่มเติม สร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระราชทานนามว่า วัดกัลยาณมิตร และทรงสร้างพระราชทานทั้งพระวิหารหลวงและพระประธานสำหรับพระวิหารหลวง คือ หลวงพ่อโตหรือพระพุทธไตรรัตนนายก โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นพระพุทธรูปใหญ่อยู่ริมแม่น้ำแบบเดียวกันกับที่ วัดพนัญเชิง กรุงเก่า หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงโดยเฉพาะในหมู่ชาวจีน เรียกชื่อแบบจีนว่า ซำปอฮุดกง หรือ ซำปอกง ภายในพระอุโบสถซึ่งมีขนาดเล็กกว่าพระวิหาร มีจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง พุทธประวัติที่แทรกเรื่องราวชีวิตชาวบ้านชาวเมืองสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งนอกจากจะมีคุณค่าทางวัฒนธรรมแล้ว ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สังคมอย่างยิ่งอีกด้วย
สำหรับ "พระวิหารหลวง" แห่งนี้ รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นมาในปี พ.ศ.2380 วางรากฐานโดยไม่ได้ตอกเสาเข็ม แต่ใช้วิธีขุดพื้นรูปสี่เหลี่ยม ฐานกว้างและใช้ไม้ซุงทั้งท่อนเรียงทับซ้อนกัน 2-3 ชั้น ลักษณะเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทย หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เชิงชาย หน้าบันสลักลายดอกไม้ปูนปั้นประดับกระจก ประตูหน้าต่างเป็นไม้สักแผ่นเดียวเขียนลายรดน้ำลายทองรูปธรรมบาล ด้านในพระวิหารหลวงมีผนังเป็นลายดอกไม้
หน้าของพระวิหารมีซุ้มประตูหินและตุ๊กตาหินศิลปะแบบจีน ด้านข้างมี "หอระฆัง" ที่สร้างขึ้นโดย พระสุนทรสมาจาร (พรหม) เมื่อปี พ.ศ.2476 ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้าง 9 เมตร สูง 30 เมตร ด้านล่างใช้แขวน "ระฆังใบใหญ่ที่สุดในประเทศไทย" โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 192 เซนติเมตร หนักถึง 13 ตัน ทางเข้าวัดมีเจดีย์หิน ทำมาจากเมืองจีน เรียกว่า ถะ เป็นศิลปะจีนที่งดงามมาก ส่วนด้านบนประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติ อีกด้านหนึ่งของพระวิหารหลวงคือ "พระวิหารน้อย" ซึ่งมีลักษณะเดียวกับพระอุโบสถ ภายในมีภาพเขียนพุทธประวัติ และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมี "หอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ" รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2408 แทนหอไตรหลังเดิม เพื่อเป็นที่เก็บพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ เป็นอาคารสองชั้นก่ออิฐถือปูน มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ด้านหน้าของวัดมี "ศาลาท่าน้ำ" ผู้ คนที่มาทำบุญที่วัดมักจะนิยมมาให้อาหารปลาและนกพิราบที่มีอยู่มากมาย บริเวณศาลาท่าน้ำ นอกจากนี้บริเวณนี้ยังสามารชมวิวทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้ อย่างกว้างขวางสวยงามอีกด้วย